Stunt man : ผู้แสดงแทนในฉากเสี่ยงอันตราย
กว่าจะเป็น' สตันท์แมน
จากกระแสภาพยนตร์เรื่อง 'องค์บาก' และ 'ต้มยำกุ้ง' ทำให้ 'สตันท์แมน' สายพันธุ์ไทยกลายเป็นที่จับตามองของต่างชาติ และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้สร้างภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด รวมถึงฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย ต่างก็หมายตาว่าจ้างสตันท์ไทยไปแสดงคิวบู๊ เสี่ยงตาย ไร้สลิง ด้วยมั่นใจในฝีมือ แต่กว่าจะถึงวันนี้เส้นทางของสตันท์แมนนั้นไม่ได้ปูรองด้วย 'แอร์แบก' แต่แลกมาด้วย 'ชีวิต'
เส้นทาง 'สตันท์แมน'
ว่ากันว่าเส้นทางของสตันท์แมนนั้นกว่าจะก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับมืออาชีพได้ พวกเขาต้องอดทนกับความยากลำบากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมและชีวิตความเป็นอยู่ บางคนถึงกับต้องอาศัยป้ายรถเมล์เป็นที่นอน ซ้อมคิวบู๊ตามสวนสาธารณะ
เกชา คำภักดี เจ้าของ Jaika Stunt & Rigging Team บอกว่า ชีวิตในการเป็นสตันท์แมนของเขาก็ไม่ต่างจากสตันท์ทั่วไปที่ต้องอดทน อดทน และอดทน เขาเข้าสู่วงการมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จากเด็กบ้านนอกที่เข้ามาทำงานใช้แรงในกองถ่าย ทั้งแบกของ เสิร์ฟน้ำสารพัด พร้อมๆกับการการฝึกฝนคิวบู๊แบบครูพักลักจำ เริ่มจากสตันท์ที่ได้ค่าตัววันละร้อยกว่าบาท จนเข้าได้เข้าไปอยู่กับทีมสตันท์มืออาชีพ ได้พัฒนาฝีมือจนเป็นที่ยอมรับของวงการ
" ตอนเข้ามากรุงเทพฯแรกๆไม่มีที่พักก็ไปอาศัยห้องของสตูดิโอ ทีนี้สตันท์มันเยอะ อยู่กันเกือบ 20 คนเถ้าแก่เขาก็รำคาญเลยล็อกห้อง พวกเราก็เลยต้องแยกย้าย ผมมีเพื่อนไม่มีญาติในกรุงเทพฯเลย ก็ไม่รู้จะทำยังไงต้องนอนตามป้ายรถเมล์ แล้วสตันท์นี่มีงานบ้างไม่มีบ้างก็ต้องไปรับจ้างกรี๊ดตามรายการเกมโชว์ กรี๊ดทั้งวันทั้งคืนได้ 60 บาท(หัวเราะ) เอาเงินมาซื้อข้าวกินแล้วก็ซ้อมคิวบู๊ไปด้วย นัดซ้อมกันตามสวนสาธารณะ เป็นอย่างนี้อยู่ 2 ปี ก็ท้อนะ นอนร้องไห้ กลับบ้านนอกไปพักหนึ่ง ตอนหลังได้มาอยู่กับทีมพี่เซ้ง(กวี ศิริคะเณรัตน์)ก็ได้เรียนรู้คิวบู๊แบบมืออาชีพ ฝีมือเราก็พัฒนาขึ้น
ต่อมาผมกับเพื่อนๆฟอร์มทีมไปรับงานสตันท์โชว์ที่มาเลย์เซีย ก็เลยได้ภาษาด้วย จากเด็กบ้านนอกจบแค่ ม.6 ก็ไปหัดเอบีซีใหม่เลย ทำอยู่ 2 ปี เก็บเงินเก็บทองได้ก็กลับมาเมืองไทย ตั้งทีมสตันท์ชื่อ Jaika Stunt & Rigging Team จนถึงทุกวันนี้ ก็ดีฮะ มีงานโฆษณา งานหนัง ทั้งไทยและต่างชาติมาจ้าง ก็อยากจะพัฒนางานไปเรื่อยๆ ตอนนี้อายุ 30 แล้ว อาจจะเล่นเองได้อีกไม่กี่ปี ปกติสตันท์แมนนี่ 40 ก็เลิกแล้ว ก็คงต้องไปอยู่เบื้องหลัง"
มีพื้นฐานมวยไทย-ยิมนาสติก
สำหรับคนที่จะเข้าสู่วงการสตันท์แมนนั้น บรรดาสตันท์รุ่นพี่แนะนำว่าควรจะมีพื้นฐานด้านยิมนาสติก และศิลปะการต่อสู้ต่างๆ โดยเฉพาะมวยไทย มีสภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง มีความอดทน ที่สำคัญต้องใจกล้า ไม่กลัวตาย
'เซ้ง' กวี ศิริคะเณรัตน์ ผู้ก่อตั้ง 'เซ้งสตันท์ทีม' สตันท์รุ่นใหญ่วัย 37 ปี ซึ่งมีประสบการณ์ในอาชีพนี้มาเกือบ 20 ปี บอกว่า ผู้ที่จะมาเป็นสตันท์ต้องมีไหวพริบ รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขยันฝึกซ้อม และไม่อยากให้เข้ามาเพราะเห่อตามกระแสเท่านั้น
"จา(จา พนม ยีรัมย์) เป็นตัวจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาในอาชีพนี้นะ แต่ถ้ามาเป็นสตันท์เพราะเห่อกระแสองค์บาก กระแสต้มยำกุ้ง แต่ไม่มีใจรักจริงๆอย่าเข้ามาดีกว่า สตันท์ป็นงานที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ต้องอดทนมาก ถ้าไม่รักจริงก็อยู่ไม่นาน ผมเองก็เป็นลูกศิษย์พี่พันนา(พันนา ฤทธิไกร) มีโอกาสได้กำกับฉากเรือหางยาวและฉากรถตุ๊กตุ๊กในเรื่องต้มยำกุ้งด้วย แต่กว่าจะถึงวันนี้นี่มันไม่ง่ายนะ อย่างสตันท์ในทีมผมนี่กว่าฝีมือจะเข้าขั้นต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2-3 ปี ช่วงที่ไม่มีงานก็ต้องซ้อมตลอด ฝึกรับแอ็กติ้ง จอกกิ้งเก็บแรง "
ด้าน เกชา บอกถึงคุณสมบัติของผู้ที่รักจะทำอาชีพนี้ว่า " ตอนนี้มีทั้งคนไทยและฝรั่งมาสมัครเป็นสตันท์กันเยอะ คือฝรั่งเขามองว่ามวยไทยนี่เท่มาก อยากมาเป็นสตันท์ในไทย ผมแนะนำว่าผู้ชายควรจะสูงไม่น้อยกว่า 170 ซม.นะ ถ้าตัวเล็กนี่บอกได้เลยว่าไม่รุ่ง ส่วนผู้หญิงที่อยากเป็นสตันท์ก็ต้อง 160 กว่าขึ้นไป"
ใจกล้า เสี่ยงตาย ใช้ไหวพริบ
เบื้องหลังของฉากผาดโผนประเภท โดดตึก ลุยไฟ ขับรถพุ่งทะยานข้ามสิ่งกีดขวาง นั้นบรรดาสตันท์ยืนยันว่านอกจากฝีมือและความใจกล้าบ้าบิ่นแล้วยังต้องมีการคำนวณระยะทาง แรงโน้มถ่วง และแรงระเบิดต่างๆอย่างละเอียด เพราะหากพลาดเพียงนิดเดียวนั่นหมายถึงชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายที่มิอาจคำนวณเป็นตัวเลข
"อย่างการกระโดดจากที่สูงต้องดูทิศทางลมด้วย ถ้าสูงมากๆนี่เราปลิวเลยนะ ต้องคำนวณให้ตกลงบนแอร์แบก(เบาะอัดลมขนาดใหญ่) หรือกล่องกระดาษที่เตรียมไว้ ปกติจะโดดตึกไม่เกิน 6-7 ชั้น 10 ชั้นนี่อันตรายมาก ลมพาไปได้ แต่ก็มีนะแต่ต้องคนที่เก่งจริงๆ เก่งคำนวณมากๆ ต้องคำนวณร่างกายว่าจะไปด้วยท่าไหนจึงจะไปถึงจุดหมาย และลงด้วยท่าไหน ตอนโดดก็ต้องคอนโทรลตัวตลอด ถ้าหน้าก้มลง หัวจะดิ่งปักพื้นคอหักตายได้ เวลาลงก็ใช่เอาขาลงนะต้องเอาหลังลง ถ้าเอาขาลงแรงกระแทกอาจทำให้ขาหักได้" เกชา บอก
ขณะที่ 'เซ้ง' บอกว่า " คนที่จะเล่นคิวบู๊ต้องไว แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ขับรถผาดโผน หากพลาดเกิดอุบัติเหตุจะดีดตัวออกจากรถยังไง หรือการโดดตึกจะพลิกตัวยังไงให้ตกลงกลางแอร์แบกให้ได้ เพราะถ้าไปตกลงขอบๆนี่อันตรายมาก ตัวไหลลงกระแทกพื้นปูนตายคาที่ก็มีมาแล้ว ผมว่ากล่องกระดาษ(กล่องกระดาษที่รองรับแรงกระแทก สำหรับฉากตกจากที่สูง)แบบที่บ้านเราทำกันเซฟกว่าเยอะ อย่างโดดด้วยความสูง 20 เมตร ทำกล่องสูงสัก 4 เมตรก็รองรับได้สบาย ก่อนที่จะมากำกับคิวบู๊ผมก็ได้เรียนรู้เรื่องการคำนวณจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ แล้วก็จากประสบการณ์จริง อย่างโดดที่สูงก็ลองทิ้งถุงทรายดูก่อน การเรียงกล่องก็ต้องมีเทคนิกในการเรียง"
เงินดี-ไม่มีประกันชีวิต
ปัจจุบันสตันท์แมนจัดว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี จากเมื่อก่อนที่ค่าตัวถูกมาก วันละแค่ 100 กว่าบาท ระยะหลังเริ่มขยับมาเป็นวันละ 300. 500, 1,000 จนปัจจุบันหากเป็นสตันท์มือใหม่ เล่นฉากเตะต่อยธรรมดา ค่าตัวอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อวัน ถ้ามีประสบการณ์ผ่านงานมาระยะหนึ่งค่าตัวจะเพิ่มเป็น 3,000 บาท/วัน ฉากบู๊หนักๆจะขยับขึ้นเป็น 4,000-4,500 บาท/วัน เป็นสแตนด์อินในฉากเตะต่อยแทนดารา ค่าตัวอยู่ที่ 5,000 บาท/วันขึ้นไป โดดที่สูง 20,000-30,000 บาทต่องาน และมีเงื่อนไขว่าโดดไม่เกิน 2-3 เทค ฉากเผาตัว 20,000 บาทขึ้นไป เทคได้แค่ 2 ครั้ง ส่วนฉากรถคว่ำซึ่งถือว่าความเสี่ยงสูง ค่าตัวจะสูงถึง 30,000-50,000 บาทต่องาน
แผงฤทธิ์ แสงชา ผู้จัดการทีมเพอร์เฟกต์กรุ๊ป ซึ่งคร่ำหวอดในวงการสตันท์มากว่า 20 ปี เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า " เมื่อก่อนค่าแรงน้อย ขนาดมืออาชีพได้แค่วันละ 800-1,500 บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นไป 2,000-3,000 บาทแล้ว ยิ่งถ้าเป็นหนังต่างประเทศที่มาถ่ายทำในเมืองไทยค่าตัวจะสูงขึ้นอีก 3-4 เท่า ปัจจุบันผมอายุ 40 แล้ว จะกำกับคิวบู๊เป็นหลัก ถ้าเป็นหนังไทยจะอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท/วัน ถ้าหนังต่างประเทศอยู่ที่ 15,000-30,000 บาท/วัน ถ้าเกิดผมพาทีมสตันท์ไปทำงานด้วยก็จะเป็นอีกราคาหนึ่ง"
ด้านเกชา บอกว่า "สตันท์เป็นอาชีพที่ประกันชีวิตไม่รับนะครับ เวลาทำงานเราก็ต้องเซฟชีวิตตัวเอง อย่างการขับรถผาดโผน ฉากรถคว่ำ รถชน ภายในรถต้องตีโรลบาร์(โครงเหล็กภายในตัวรถซึ่งติดตั้งเพื่อป้องกันการกระแทก)ทั้งคัน สตันท์ต้องใส่ชุดเซฟตี้ สวมหมวกกันน็อก และคาดเบลต์ 5 จุด เพื่อกันการกระแทก หรือฉากเผาตัวเราก็ใช้เจลกันไฟซึ่งสั่งมาจากอเมริกาหรือออสเตรเลีย ราคาแพงมาก ขนาด 5 ลิตร ตก 2-3 หมื่น ต้องลงทุนครับเพื่อให้คนของเราเสี่ยงน้อยที่สุด"
เซ้ง ให้ข้อมูลว่า " อาชีพสตันท์ก็เกษียณอายุนะครับ เกษียณเร็วด้วย (หัวเราะ) ผู้ชายเริ่มต้นเข้าวงการประมาณ 17 ปี อายุ 40 ก็เลิกแล้ว ส่วนสตันท์หญิงจะอยู่ในช่วง 17- 30 ปี เพราะความแข็งแกร่งของสภาพร่างกายน้อยกว่า"
สตันท์ไทยโกอินเตอร์
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสตันท์ไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง อินเดีย ต่างก็ไว้วางใจจ้างสตั้นไทยไปแสดง ด้วยทึ่งในความสามารถผาดโผนลุยไฟถึงไหนถึงกัน และที่สำคัญสตันท์ไทยยังมีน้ำอดน้ำทนไม่มีบ่นไม่มีเหนื่อย รวมทั้งค่าตัวที่ถูกกว่า
เซ้ง บอกว่า 'เซ้งสตันท์ทีม' ของเขาได้รับความไว้วางใจให้ไปร่วมงานกับทีมสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทูม ไรเดอร์ 2 ซึ่งเขายกทีมไปแสดงที่ประเทศอังกฤษ และเคนยา , แบดแมนบิกิน ก็ไปถ่ายทำที่อังกฤษเช่นกัน
" ฝรั่งชอบสตันท์ไทยตรงที่คนของเรามีความอดทนสูง แบบว่างานสตันท์ของไทยมันหนัก มันเสี่ยงไง พอไปทำงานกับฝรั่ง เขามีเซฟตี้ คนที่เป็นสตันท์ก็เล่นคิวบู๊อย่างเดียว ไม่ต้องมาแบกเครื่องไม้เครื่องมือ เราก็โอ้..สบายมาก (หัวเราะ)"
ขณะที่ เกชา เล่าว่า มีต่างชาติมามาว่าจ้างให้สตันท์ของ Jaika Stunt & Rigging Team ไปรับงานอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งหนังต่างชาติที่มาถ่ายทำในไทย เช่น Bus Sport 2, 80 วันรอบโลก ที่เฉินหลงเป็นพระเอก และดึงตัวไปแสดงในต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ผู้สร้างภาพยนตร์อินเดียก็ติดต่อให้เขาไปทำคิวบู๊ และนำทีมสตันท์ไปแสดงที่อินเดีย
" คือคิวบู๊ของฮ่องกงจะเน้นความคล่องแคล่ว พลิกพลิ้ว ฉับไว ขณะที่ฝรั่งจะออกแนวหนักแน่น รุนแรงส่วนคิวบู๊ของไทยจะเป็นการผสมผสานระหว่างความหนักแน่นและคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ต่างชาติชอบมาก โดยเฉพาะมวยนี่เขานับถือว่าเจ๋งสุดๆ" เกชา บอก
ด้านสตันท์รุ่นเดอะอย่าง แผงฤทธิ์ บอกว่า " ที่ผ่านมาผมได้ร่วมงานกับต่างชาติเยอะนะ ทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน ที่จำได้ก็มีเรื่อง เซเว่น แอนด์ เอิร์ธ , สแกนเนอร์ 2 "
ประสบการณ์ท้านรก
เนื่องด้วยสตันท์เป็นอาชีพเสี่ยงตาย ท้าทายนรก ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้จำนวนไม่น้อยที่บาดเจ็บ พิการ หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต นอกจากความสามารถ และอุปกรณ์เซฟตี้แล้ว ชีวิตของพวกเขาพึ่งได้อย่างเดียวคือ 'โชคชะตา'
เซ้ง เล่าว่า " สมัยก่อนคิวบู๊นี่เสี่ยงทุกคิว เพราะอุปกรณ์เซฟตี้ยังมีน้อย ยิ่งเล่นให้ต่างชาติยิ่งความเสี่ยงสูง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเป็นสแตนด์อินในมิวสิกวิดีโอของฝรั่ง ต้องโดดเหวสุวัต ที่เขาใหญ่ ไม่มีสลิง ไม่มีเซฟตี้อะไรเลย โดดไปตัวเปล่าๆ มีแต่น้ำรองรับ แล้วน้ำนี่มีความหนาแน่นสูง ถ้าเราโดดจากที่สูง แรงกระแทกก็ยิ่งเยอะ ผมก็ต้องเอาไม่ไผ่ยาวๆไปจิ้มดูว่ามันลึกแค่ไหน แล้วมีก้อนหินตรงไหนบ้าง เพราะถ้าพลาดมานี่ตายอย่างเดียว"
ด้าน แผงฤทธิ์ บอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุจากการแสดงคิวบู๊ " ตอนนั้นผมไปถ่ายเรื่องกตัญญูประกาศิต โดนไฟลวกทั้งตัว หน้าผมนี่ผิวหนังหลุดหมด ต้องทำศัลยกรรม นอนโรงพยาบาลอยู่เดือนหนึ่งเต็มๆ ออกมาพักฟื้นที่บ้านแล้วก็ยังทำอะไรไม่ได้ โดนแดดไม่ได้ไป 6 เดือน คือการทำเอฟเฟกต์ของไทยยังไม่ได้มาตรฐาน สูตรต่างๆก็คำนวณแบบกะๆเอา เกิดอะไรขึ้นสตันท์ไทยก็ต้องใช้ไหวพริบ เอาตัวรอดเอาเอง"
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกจากปากของสตันท์แมนสายพันธุ์ไทย
************
'สตันท์สาว' สวย เผ็ด ดุ
หลายคนคงแปลกใจหากทราบว่าปัจจุบันมีสาวๆจำนวนไม่น้อยที่ชอบความท้าทายและกล้าเสี่ยงตายเข้ามายึดอาชีพสตันท์ อาจเป็นเพราะ'สตันท์หญิง' เป็นงานที่มีรายได้ดีและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ค่าตัวที่เธอได้นั้นมากกว่าสตันท์ชายถึง 2 เท่า คืออยู่ที่วันละ 6,000-7,000 บาท แต่ค่าตอบแทนคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พวกเธอยอมเอาชีวิตมาเสี่ยง
'ติ๊ก' อลิสา สนธิรอด สาวน้อยหน้าใสวัย 22 ปี เธอมีฉายาในวงการว่า 'เสือริค' หรือแม่เสือสาวที่ปราดเปรียวฉับไว แม้จะทำงานด้านนี้มาได้เพียง 2 ปี แต่ฝีมือนั้นฉกาจฉรรจ์ ทั้ง คิวบู๊ ยิมนาสติก มวยไทย ฟันดาบ กระบี่กระบอง ขึ้นสลิง โรยตัว โดดตึก น้ำตกเหวสุวัตที่ใครๆว่าน่ากลัวนักหนาแต่เธอกลับไม่ยี่หระ เพราะความสูงแค่นี้เธอโดดมาแล้วด้วยสลิงเพียงเส้นเดียว
" ก็ประทับใจมากค่ะว่าเราทำได้ ตอนนั้นเล่นเรื่อง'ไพรีพินาศ' เป็นสแตนด์อินแทนนางเอก อย่างที่รู้คือเหวสุวัตมันสูงมาก ก่อนโดดก็เสียวอยู่เหมือนกันเพราะสลิงที่ยึดอยู่มีแค่เส้นเดียว แล้วลมตีด้วย ถ้าเกิดพลาดนี่เละแน่ อย่างเรื่อง 'เสือคาบดาบ'ก็เสี่ยงเหมือนกัน ต้องโรยตัวลงมาจากตึก 15-16 ชั้น ล่าสุดติ๊กชนะการประกวด 'Fantastic 4' ซึ่งเป็นการประกวดความสามารถด้านคิวบู๊ ความจริงเจ้าของลิขสิทธิ์คือสหรัฐอเมริกาแต่เขาไปจัดประกวดในหลายๆประเทศ แล้วครั้งนี้มาจัดที่ประเทศไทย พอชนะก็เลยได้เซ็นสัญญาไปร่วมแสดงคิวบู๊ในเรื่อง 'เอ็กซ์เมน 3' ที่กำลังจะถ่ายทำกันเร็วๆนี้
จริงๆสตั้นหญิงในไทยมีอยู่เป็นร้อยคนนะ แต่คนไม่ค่อยรู้จักเท่าไร แต่ถ้าเทียบกันแล้วสตันท์หญิงจะเป็นฝ่ายเตะต่อยผู้ชายมากกว่าจะโดนเตะโดนต่อยนะ ตัวติ๊กเองโดนเตะแรกๆโอย...เจ็บมาก แต่ตอนนี้ชินแล้ว(หัวเราะ) ก็บอกให้พี่ๆเขาเตะแรงๆเลย เพื่อความสมจริง อยากเป็นเหมือนพี่จานะ(จา พนม ยีรัมย์) แค่เป็นสตันท์หญิงที่ดังในระดับประเทศก็พอ
คือติ๊กชอบเรื่องบู๊ๆมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งได้มาทำงานนี้ก็ยิ่งชอบ หุ่นบางๆแบบนี้บอกใครว่าเป็นสตันท์เขาก็ไม่เชื่อ ตอนนั้นไปเล่นเรื่อง 'ชื่นชอบชวนหาเรื่อง' แล้วพี่ๆสตั้นเขาเห็นแววก็เลยชวนมาทำงานด้านนี้ ถึงตอนนี้ก็แสดงมา 30 เรื่องได้แล้วมั้ง เป็นงานที่ภูมิใจนะ ตอนนี้ติ๊กเรียนอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ปี 2 ส่งตัวองเรียน แล้วก็ส่งเงินให้พ่อด้วย เดือนหนึ่งๆมีงานเฉลี่ย 5-10 งาน ก็อยู่ได้สบายๆ"
'การ์ตูน' สุมัทนา สุนทรพานิช สตั้นในสังกัด Jaika Stunt & Rigging Team สาวสวยวัย 23 ปีคนนี้ เธอเข้าสู่วงการสตันท์ตั้งแต่อายุ 19 ความสามารถรอบตัว ทั้งเตะต่อย ขี่ม้า ฟันดาบ พ่นไฟ โดดตึก โรยตัวจากที่สูง ขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผน ตูนผ่านงานหนัง งานโฆษณา ทั้งไทยและเทศ ส่วนตอนนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทำเรื่อง 'นเรศวร' โดยรับบทเป็นคนสนิทของนางเอก (รับบทโดย ทราย เจริญปุระ) ซึ่งตูนต้องโชว์คิวบู๊ ขี่ม้า ฟันดาบ ตลอดเรื่อง
" ส่วนตัวเป็นคนลุยๆ หน้าหวานนะ แต่นิสัยไม่หวานเลย(หัวเราะ) ตูนชอบอาชีพนี้เพราะรู้สึกว่าเป็นงานอิสระ มันดูเท่ ต้องใช้ความสามารถสูง รู้นะว่าต้องเจ็บ แต่ชอบ ซาดิตส์มั้ง (หัวเราะร่วน) แรกๆจะฝึกเตะต่อยก่อน แล้วก็ซ้อมตกจากที่สูง จากตึก 1 ชั้น , 2 ชั้น แล้วก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นงานโฆษณา แล้วก็มีหนังต่างประเทศบ้าง อย่างเมื่อเดือนที่ผ่านมาไปเล่นเรื่อง The Fife Commitment เป็นฉากถูกยิงตกลงมาจากบันไดสูงเท่ากับตึก 2 ชั้น เป็นงานทีเสี่ยงนะ แต่ไม่กลัวเพราะเรารู้วิธีเซฟ
ฉากเสี่ยงตายที่สุดสำหรับตูนน่าจะเป็นตอนที่เป็นสตันท์ตกตึก 3 ชั้น คือเราตกลงมาบนกล่องแบบที่ตัวเราไม่มีอะไรเซฟเลย ตัวเปล่าๆเลย ตกลงมามีแต่กล่องกับเบาะบางๆรองรับ ถ้าลงมาผิดท่าหรือไม่ตรงจุดที่มาร์กไว้ก็เสร็จ ตอนลงเราต้องมีสติตลอดว่าจะลงมาด้วยท่าไหน ถึงพื้นด้วยท่าอะไร การโดดจากที่สูงจะมี 3 ท่า คือ over head เป็นการตีลังกา ม้วนตัวลงมา , head sove พลิกตัวลงมา แล้วเอาหลังลง ส่วนอีกท่าจำชื่อไม่ได้แล้ว เป็นการกระโดดยื่นขาไปข้างหน้า แล้วเอาหลังลง ซึ่งทุกท่าต้องเก็บคอ งอเข่า เพื่อไม่ให้หัวกระแทกเบาะ ไม่อย่างนั้นอาจคอหักตายได้
ตอนนี้มีสตันท์หญิงเข้ามาเยอะมาก แล้วไม่ใช่คนไม่มีความรู้นะ พวกจบปริญญาตรีมาก็เยอะ ส่วนใหญ่จะชอบแนวนี้ เรียนคาราเต้ ยูโด ยิมนาสติก มาก่อน ตูนเองคงอยู่ในอาชีพนี้ไม่เกินอายุ 28 เพราะพออายุมากขึ้นความแข็งแกร่งว่องไวของเราจะลดลง แล้วอายุเยอะขึ้นก็อยากทำอะไรที่มั่นคง แต่ตอนนี้สตันท์หญิงที่อายุ 30 กว่าแล้วยังเป็นสตันท์อยู่ก็มีนะ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละคนด้วย"
เรื่องโดย -จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
- - - - - -- - - - - - - -- - - - - - -- - - - --
ข่าวและภาพบางส่วน จาก ; ผู้จัดการรายวัน 7 กันยายน 2548
|